มนต์เสน่ห์เมืองน่าน ภูคา - แม่จริม

ลมหนาวพัดมาทีไร ชวนให้คิดถึงทิวเขา ลำเนาไพรที่ภาคเหนือทุกทีไป มนต์เสน่ห์ แห่งเมืองน่าน คือเป้าหมายของเรา ที่รถโฟล์วิลคู่กาย พร้อมจะตลุยไปสัมผัสดินแดนแห่งขุนเขาอันลี้ลับนี้ “น่าน”เป็นเมืองสงบเงียบ เพราะนักท่องเที่ยวยังเข้าไปเที่ยวชมไม่มาก เนื่องจากน่านเป็น

ดอยภูคา

เนื่องจากน่านเป็นจังหวัดที่ไม่ใช่ทางผ่านให้แวะเวียน ถ้าจะไป คือ “ต้องตั้งใจไปจริงๆ” จุดดึงดูดของ "น่าน" คือ พื้นที่ ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยขุนเขา โดยมีกำแพงธรรมชาติปิดล้อม พันธนาการ ให้ปลอดความเจริญจากภายนอก ชาวบ้านที่นี่ยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย โอบอ้อมอารี นี่เองที่ทำให้ "น่าน" เป็นเมืองสำหรับคนที่ตั้งใจไปเที่ยว และต้องเป็นคนที่รักป่าเขาลำเนาไพร การเที่ยว "น่าน" ให้ครบเครื่อง ครอบคลุมผืนป่าและขุนเขา ว่ากันว่า จะต้องไล่เก็บธรรมชาติ เริ่มที่ "น่านเหนือ" แล้วกวาดไป "น่านใต้" สถานที่ท่องเที่ยว ที่เลื่องลือของน่าน คือ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อยู่ทางน่านตอนเหนือ และ ล่องแก่งน้ำว้า ที่ อ.แม่จริม อยู่ทางน่านใต้

ผู้คนส่วนใหญ่ที่ไปเที่ยวน่าน จะตั้งต้นกันที่ น่านเหนือ เริ่มจาก ดอยภูคา ไล่ขึ้นไป จนถึง ชายแดนห้วยโก๋น แล้ว จึงกลับลงมาด้านใต้ หรือ เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ด้วยเวลาที่จำกัดของการเดินทางครั้งนี้ จึงทำให้เราปรับทริปเดินทาง ย่นระยะทาง เพื่อให้สัมผัสทั้ง "น่านเหนือ-น่านใต้" โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 วัน

เราออกเดินทาง จากกรุงเทพฯ นครแห่งความวุ่นวาย ตั้งแต่เช้าตรู่ ที่พระอาทิตย์เพิ่งโผล่ขึ้นขอบฟ้า เส้นทางจากกรุงเทพ ไป น่านนั้น ใช้เส้นทาง กรุงเทพ - นครสวรรค์ จากนั้นแยกเข้า ทางหลวงหมายเลข 117 มุ่งสู่พิษณุโลก อุตรดิตถ์ อ.เด่นชัย เข้าจังหวัดแพร่ และก็ถึงน่าน จากกรุงเทพ ถึงน่าน ระยะทาง 668 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง กว่าๆ จากตัวเมืองน่าน เราไม่รีรอ รีบตรงดิ่งไปยังเป้าหมายแรก คือ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เพราะเกรงว่า จะมืดเสียก่อน ยิ่งไม่คุ้นเส้นทาง ถ้ามองไม่เห็นทางจะยิ่งลำบาก

ระยะทางจากตัวเมืองน่านไปถึง อ.ปัว ประมาณ 60 กิโลเมตร และจากปัว ขึ้นไปอุทยานอีก 25 กิโลเมตร ระหว่าง 2 ข้างทาง ที่ขึ้นสู่ "ภูคา" นั้น เต็มไปด้วย ต้นไม้เขียวครึ้ม เราไม่ลังเลที่จะปิดแอร์ แล้วเปิดกระจกเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ เป็นอากาศที่หอมกลิ่นอายของป่า ลมเย็นพัดพามา ต้องที่ใบหน้า รู้สึกได้ถึงความหนาวเย็น ที่กำลังจะเผชิญอยู่ ทำให้ขนลุกขึ้นมาทันที ในที่สุด เวลา 4 โมงเย็นกว่าๆ เราก็ถึง อุทยานแห่งชาติดอยภูคาอย่างสะบักสะบอมพอควร จะว่าไปแล้ว การเดินทางครั้งนี้ค่อนข้างจะเหนื่อยอยู่บ้าง เพราะเราไม่ได้พักเลย แต่นักเดินทางบางชุด ก็วางโปรแกรมไว้อีกแบบ คือเมื่อมาถึงน่านแล้ว นอนพักค้างคืนเอาแรงที่ตัวเมืองน่านก่อน รุ่งเช้า จึงจะเดินทางขึ้นดอยภูคา เพียงแต่ เรามีเวลาน้อย จึงยอมเหนื่อยเดินทางรวดเดียว ถึงอุทยานแห่งชาติดอยภูคา

หลังจากเข้าที่พักเก็บของเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มสำรวจอุทยานกันก่อน ที่”ภูคา”แห่งนี้ มีสถานที่พักให้เลือกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักที่แสนสบายหลังใหญ่ 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ, บ้านล้อเกวียนหลังเล็ก ๆ ที่ปลูกเรียงรายเป็นทิวแถว หรือ ถ้าชื่นชอบการตั้งแคมป์ สถานที่กางเต็นท์เหมาะเจาะลงตัวทีเดียว อยู่บนเนินเขา ใกล้จุดชมวิว ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด ในระหว่างนี้ “อุทยาน” กำลังสร้างบ้านพัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอีกหลายสิบหลัง เรื่องทำนองนี้ หากมองในแง่ดีแสดงว่ามีผู้คนรู้จักเมืองน่าน และมาเที่ยวชมมากขึ้น

ที่สำคัญสอดรับกับนโยบายของนายกฯ ทักษณ ชินวัตร "เปิดตลอดท่องเที่ยวภายในประเทศ" แต่ถ้ามองในมุมกลับ อนาคตของธรรมชาติแห่งขุนเขาที่ลี้ลับ คงจะคราครั่งไปด้วยนักท่องเที่ยว ความสงบคงจะหายไปจากที่นี่เป็นแน่ ยิ่งหากนักท่องเที่ยว ไม่มีจิตสำนึก รักษ์ธรรมชาติ รักษ์ป่า แล้ว ก็น่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งเราสามารถพบได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ หรือ กระดาษห่อขนม ถ้าไปเที่ยวแล้ว พบเห็นขยะเหล่านี้ อย่าลืมเก็บออกมากันบ้าง ช่วยกันดูแลรักษาป่าของเรา และสำหรับคืนนี้ เราหลับใหลไปด้วยความอ่อนเพลียจากการเดินทาง ตื่นเช้าพรุ่งนี้ เราจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นกัน

ดอยภูคา” เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดน่าน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,980 เมตร เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรณไม้หายาก สามารถพบได้ที่ป่าดอยภูคาเพียงแห่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นต้นชมพูภูคา ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับพบได้ที่ภูคาแห่งนี้ หรือจะเป็น ต้นเต่าร้างยักษ์ ปาล์ม ดึกดำบรรพ์ ที่เพิ่งค้นพบ หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ ขึ้นเรียงรายอยู่ตามแนวเชิงเขา

ยามเช้านั้น แสงแดดอ่อนๆ พร้อมด้วยไอหมอกบางๆ ต้องกระทบกับภูเขาที่ทอดตัวยาวออกไป ลูกแล้วลูกเล่าไม่รู้จบ ชนิดที่ชมได้ไม่รู้เบื่อเมื่อมาถึง”ภูคา” กิจกรรมที่ไม่ควรพลาด คือ การเดินศึกษาธรรมชาติ เส้นทางเล็กๆ ลัดเลาะเข้าสู่ป่า ชมพรรณไม้หายาก ที่ขึ้นเขียวขจี ไปตลอดเส้นทาง เสมือนทางเดินเข้าสู่ดินแดนดึกดำบรรพ์ ในโลกแห่งความฝัน เลยทีเดียว เส้นทางนี้ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ผ่านต้นชมพูภูคา และเต่าร้างยักษ์

ต้นเต่าร้างยักษ์

แต่ถ้ามีเวลามากพอ อย่างน้อย 3 วัน 2 คืน สำหรับการขึ้นสำรวจ ดอยภูแว ชมยอดเขาที่โดดเด่น ปกคลุมไปด้วยต้นหญ้า ปราศจากต้นไม้ใหญ่ และสุสานหอยทะเล อายุประมาณ 200 ล้านปี นี่จึงเป็นอีกเส้นทางที่จะสร้างความประทับใจให้ไม่รู้ลืม (ขึ้นดอยภูแว ต้องมีลูกหาบ ค่าจ้างวันละ 200 บาท)

หลังเที่ยงเล็กน้อย เราเก็บข้าวของ เตรียมตัวเดินทาง เข้าสู่ อำเภอแม่จริม เพื่อเดินทางไปอุทยานแห่งชาติแม่จริม ไปสัมผัสทะเลหมอกและล่องแก่งในลำน้ำว้า ก่อนออกเดินทาง เรามีความคิดกันว่า น่าจะมีเส้นทางลัด ที่ทำให้เราไม่ต้องตัดผ่านเข้าเมือง เพื่อจะได้ชมธรรมชาติ สองข้างทางอย่างเต็มที่ หลังจากถามไถ่เจ้าหน้าที่อุทยานภูคาแล้ว ได้รับคำแนะนำว่า ให้เดินทางต่อไปยัง อ.บ่อเกลือ จาก อ.บ่อเกลือ เลี้ยวขวาเข้า อ.สันติสุข ลัดเลาะผ่านป่าเขาและหมู่บ้านไปก็จะถึง อ.แม่จริม "ทางเส้นนี้ จะสามารถร่นระยะทางและเวลาร่วมชั่วโมง"…เจ้าหน้าที่จากอุทยานดอยภูคา วาดฝันให้เรา สุดท้าย เราตกลงกันว่าจะไปตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ว่า โดยออกจากอุทยานแห่งชาติภูคา มุ่งตรงไปยัง อ.บ่อเกลือ

ในช่วงแรก เส้นทางตัดผ่านลัดเลาะทิวเขา สลับกับทุ่งข้าวโพด พบเห็น รูปแบบวิถีชีวิต ชาวเขา ตลอดสองข้างทาง ช่างน่าตื่นตาตื่นใจและสร้างความเพลิดเพลินเหลือคณาแต่ชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่อึดใจ ผ่านไปไม่กี่กิโลเมตร เราเริ่มรู้สึกว่า เส้นทางเริ่มคดโค้ง และวกวนมากยิ่งขึ้นเราวิ่งผ่านภูเขา ลูกแล้ว ลูกเล่า เหมือนผ่านเข้าสู่แดนสนธยา ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อไหร่จะพบทางออกเสียทีหนอ!!! หลังจากผ่าน อ.บ่อเกลือ แล้ว รถของเราแทบจะเป็นคันเดียวที่วิ่งอยู่ถนน นานๆ จะมีเพื่อนร่วมทางวิ่งผ่านมาสักคัน

เส้นทางตัดวงรอบภูเขา ขึ้นๆ ลงๆ คล้ายกับกำลังเล่นรถไฟเหาะในสวนสนุกก็ไม่ปาน "โค้งและหักศอกตลอดเส้นทาง"……เราเริ่มรู้สึกไม่สนุกกับการขับรถบนเส้นทางนี้เสียแล้วเสียงเพลงคันทรี่ ใสๆ เข้ากับบรรยากาศ ถูกปิดลงด้วยอารมณ์หงุดหงิดพวกเรานั่งกันอย่างเงียบ ๆ โค้งขึ้นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 1,200 กว่าโค้งที่ว่าแน่ๆ เราเคยผ่านฉลุยไปแล้ว ถึงคราวนี้ต้องจำยอม เมื่อมาเจอกับ "โครตโค้ง" ที่นี่

บรรยากาศในตอนนั้น เสียงกระซิบจากสมอง บอกว่า "มึนหัว" "กระเพาะ" สะกิดเตือนว่า "เริ่มปั่นป่วน" สิ่งของประทังชีวิตที่อัดแน่นไปในช่วงสาย ๆ กำลังเรียงตัวกันใหม่ และพร้อมที่จะขย่อนออกมาได้ทุกเมื่อ เราฝ่าฟันเส้นทางสุดโหดนี้มา 3 ชั่วโมงเต็ม ทั้งๆ ที่ระยะทางยาวแค่ 60 กว่ากิโลเมตร เมื่อรถวิ่งถึงทางราบ เห็นสถานีตำรวจอยู่เบื้องหน้า เรารีบเลี้ยวรถเข้าไปทันที

ประการแรก คือ เพื่อหยุดพัก ปรับอารมณ์ขุ่น และไล่ความเครียดให้พ้น ประการที่สอง คือ ถามให้หายคาใจ ว่า เส้นทางนี้ไม่หลงแน่ และเป็นเส้นทางลัดจริงๆหรือไม่ "พวกน้องมาถูกแล้ว เส้นเนี่ยแหละจะลัดไปแม่จริม ชาวบ้านใช้กันประจำไม่ต้องกลัวหรอก" จากสถานีตำรวจ เราใช้เวลาอีกเกือบหนึ่งชั่วโมง จึงถึงจุดหมายปลายทางที่ อุทยานแห่งชาติแม่จริม อ.แม่จริม

บทเรียนจากการเดินทางครั้งนี้เป็นประสบการณ์สำหรับเราพอควร "อย่าออกนอกเส้นทางที่ไม่รู้จัก…ความเคยชินของชาวบ้านกับความรู้สึกของคนกรุง ช่างต่างกันลิบลับ ราวฟ้าดิน" แต่ถ้าการเดินทางของคุณไม่รีบเร่ง ไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก หรือต้องการวัดใจกับตัวเองกับความโหดของ"โครตโค้ง"เส้นทางนี้เหมาะสมสำหรับการชมทิวทัศน์ของนักเดินทางที่ชอบความท้าทายยิ่งนัก!!!

อุทยานแห่งชาติแม่จริม ตั้งอยู่ในหุบเขา อากาศเย็นสบายกำลังดี แตกต่างจากอุทยานแห่งชาติภูคา ที่ค่อนข้างหนาว และลมแรง สถานที่ทำการอุทยาน ตั้งอยู่บนเนินเขา เมื่อมองออกไป จะเห็นลำน้ำว้าคดเคี้ยว ไหลเลาะแก่งหิน เสียงสาดซัดกระทบหิน ดังแว่วมา ช่างเป็นเสียงดนตรีธรรมชาติที่ไพเราะน่าฟัง แม้ว่าน้ำว้าในยามนี้ค่อนข้างเชี่ยว เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นหนาว (เดือนพฤศจิกายน) ก็ตาม

"พี่ผดุง อยู่สมบูรณ์" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่จริม ที่เป็นผู้บุกเบิกอุทยานแห่งนี้ และอยู่ที่นี่มาเข้าปีที่8 เล่าให้ฟังว่า ลำน้ำว้าเต็มไปด้วยเกาะแก่ง ที่สวยงาม เหมาะแก่ล่องแก่ง อีกทั้งทิวทัศน์ 2 ข้างทาง ก็แสนจะงดงาม เราได้แต่พยักหน้ารับฟัง ในใจคิดว่า พรุ่งนี้ คงจะได้พิสูจน์ คำลำลือเกี่ยวกับสายน้ำแห่งนี้แน่ การล่องเรือที่ลำน้ำว้า สามารถเลือกได้ว่า ต้องการความสนุกสนานแบบใด ถ้าต้องการ ความสงบเงียบ ล่องแพไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งชมทิวทัศน์ สองข้างทาง ที่เต็มไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ โดยเริ่มล่องตั้งแต่ช่วง บ้านน้ำปุ๊ ตำบลน้ำพาง จนกระทั่งถึงหน้าอุทยาน เพราะในช่วงนี้ น้ำว้า ยังไม่มีเกาะแก่งกีดขวาง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร หากใช้แพไม้ไผ่ล่อง จะได้บรรยากาศที่สุด แต่หลังจากนี้ไป น้ำว้าจะเริ่มเชี่ยว มีเกาะแก่งให้ล่องเรือมากถึง 8 แก่ง แก่งที่ทุกคนพร้อมใจกันยกให้ว่า โหดที่สุดสำหรับลำน้ำแห่งนี้ คือ "แก่งหลวง" บริเวณนี้ มีก้อนหินใหญ่ขวางอยู่ สายน้ำจะถูกบีบเข้ามา บริเวณซอกหิน น้ำจะไหลแรงมาก เวลาแพยางล่องลง เป็นช่วงที่สนุกที่สุด และเร็วที่สุดเพียงช่วงอึดใจเดียว

"แก่งหลวง" เป็นแก่งแรก ถ้าเริ่มตั้งต้นล่องตั้งแต่หน้าอุทยาน ไปจนถึง บ้านหาดไร่ ต.ส้านนาหนองใหม่ อ.เวียงสา หรือ เส้นทางลำน้ำว้าตอนล่าง ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร "พี่ผดุง" แนะถึงการล่องแพ ว่า ถ้าจะให้ได้บรรยากาศ และสนุกสนานมากกว่านี้ ให้เริ่มล่องตั้งแต่บ้านสบมาง อ.บ่อเกลือ ไปจนถึงบ้านวังลูน อ.แม่จริม หรือ เส้นทางแก่งน้ำว้าตอนกลาง รวมระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร พักค้างคืน 3 วัน 2 คืน โดยเส้นทางนี้เพิ่งเปิดให้ล่องได้เมื่อไม่นานมานี้

ในอดีต การล่องแก่งของที่นี่ สามารถใช้แพไม้ไผ่ ล่องไปได้จนกระทั่งถึง จุดสิ้นสุดที่ อ.เวียงสา แต่ในระยะหลังทางอุทยานไม่อนุญาตให้ใช้แพไม้ไผ่ล่องในช่วงที่เป็นเกาะแก่ง เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้สำหรับบริษัทที่จัดกิจกรรมล่องแพนี้ ใน อ.แม่จริม มีหลายบริษัท บางแห่ง มีปางช้าง จัดช้างให้นั่งชมธรรมชาติหลังจากล่องแพ ขณะที่ทางอุทยานแห่งชาติแม่จริม ก็จัดบริการล่องแพไว้ด้วยเช่นกัน สนใจสอบถามได้ที่ทำการอุทยาน สนนราคาล่องแพต่อคน ประมาณ 1,500 - 2,500 บาท และ 4,500-5,000 บาท สำหรับการล่องแก่งน้ำว้าตอนกลาง ราคาเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับระยะทางและประเภทของแพที่สำคัญ"พี่ผดุง" แกง่ายๆ คุยถูกคอหั่นราคาเหลือแค่ครึ่ง เผลอๆ ล่องฟรีอีกต่างหาก!!!

ช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการล่องแพ คือ เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม การล่องแพแต่ละครั้ง ควรจะล่องเป็นกลุ่มอย่างน้อย 4 คนขึ้นไป ถ้าคนน้อย ความสนุกสนานก็จะลดลงไป เพราะแพยางจะเบา เวลาลงแก่ง แรงกระแทก กระทบ ที่ทำให้น้ำแตกกระจายจะน้อยลงไปแต่ถ้ามาคู่หรือเดี่ยว อยากล่องซะอย่าง ก็ได้ ไม่ว่ากัน!!!

ระหว่างทางที่ลัดเลาะไปตามสายน้ำบางช่วงก็ปราศจากเกาะแก่ง คุณสามารถบอกให้เจ้าหน้าที่หรือ คนคัดท้ายเรือยาง หยุดเพื่อชมทิวทัศน์ หรือลงไปดำผุดดำว่ายได้ตลอด ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาว น้ำว้าจะสวยใส เย็นชื่นใจมากทีเดียว และถ้าสังเกตให้ดี ป่าไม้ระหว่าง 2 ฝากฝั่งน้ำว้า จะมีลักษณะแตกต่างกัน ด้านหนึ่งจะเต็มไปด้วย ป่าไม้เต็งรัง ส่วนอีกด้านหนึ่ง เป็นป่าไผ่ มีลักษณะโปร่ง ส่วนริมน้ำเต็มไปด้วยไม้น้ำและเฟิน ยิ่งมองตามแสงแดดในยามเช้า ฝ่าคลื่นทะเลหมอกด้วยแล้ว สามารถสัมผัสถึงถึงความอ่อนหวานและการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ลำน้ำว้ามอบให้ชนิดที่ไม่อาจลืมเลือน

สิ่งที่สะดุดตาอีกอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้จากลำน้ำว้า คือ ก้อนหินและเม็ดทราย ทรายที่นี่ มีสีแดง ละเอียดมาก แตกต่างไปจากทรายที่อยู่ตามลำน้ำทั่วๆ ไป เราถอดรองเท้า แล้วเดินไปตามผืนทราย ก้าวแรกที่เหยียบย่ำ ให้ความรู้สึกนุ่มเท้าเหมือนเดินอยู่บนพรมเปอร์เซียชั้นดีทีเดียว ส่วนก้อนหิน นอกจากจะ มีลักษณะกลมมนเกือบทุกก้อนแล้ว ยังมีสีสันสวยงาม คละเคล้ากันไปไม่ว่าจะเป็นสีแดงอมม่วง สีน้ำตาล บางก้อนมีลวดลายในตัว นี่แทบไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่พบเห็นอยู่ตรงหน้านี้ จะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมา ความสวยงามมีมากเสียจนแทบเราอดใจไว้ไว้ไม่อยู่ เกือบจะเอื้อมมือหยิบ เจ้าหินแสนสวยติดมือลงกระเป๋า กลับมาวางไว้ที่บ้านสัก 2 - 3 ก้อน แต่เมื่อมาใคร่ครวญดู ธรรมชาติก็ต้องอยู่คู่ธรรมชาติ จึงจะงดงาม ถ้าเข้าไปอยู่ในเมืองจะสวยงามอย่างไร ??? ไม่ช้าไม่นานก็คงเบื่อ ทิ้งขว้างไปอย่างไร้ราคาและคุณค่า เราได้แต่คิดอยู่ในใจว่า ไม่ช้าไม่นาน จะต้องกลับมาเชยชม เจ้าหินสีสวย อีกสักครั้ง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

การล่องแก่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า ๆ จึงเดินทางกลับมายังที่พัก ที่อุทยาน เตรียมตัวเดินทางต่อไปจังหวัดลำปาง เพื่อยลโฉม อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ต่อไป ก่อนจะจากแม่จริม ความรู้สึกเสียดาย-เสียใจเกิดขึ้นมาทันที มันเป็นห้วงเวลาแห่งความรู้สึก ที่ได้สัมผัสขุนเขาดินแดนอันลี้ลับแห่งเมืองน่าน ที่นี่ยังมีธรรมชาติให้เที่ยวชมอีกมาก หรือว่าเรา ต้องมนต์เสน่ห์เมืองน่านเข้าแล้ว ???สักวันจะกลับมา!! นี่คือคำสัญญาที่ให้ไว้ ก่อนตะวันจะลับฟ้าไปในวันนั้น


ขอขอบคุณ

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ดอยภูคา และคุณผดุง อยู่สมบูรณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่จริม ที่ให้ข้อมูล

รูปภาพดอยภูคา จากคุณ วันฉัตร สุดแก้ว