เที่ยวชมมหกรรม งานพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549
มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นโดยรัฐบาลไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเฉลิมฉลองในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปี 2549 และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี 2550
ราชพฤกษ์ ต้นไม้ประจำชาติ และความหมายอันเป็นมงคล
“ราชพฤกษ์” เป็นชื่อต้นไม้ประจำชาติ ถือเป็นไม้มงคลที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากมีดอกเป็นพวงระย้า สีเหลืองสด อันเป็นสีแห่งพระพุทธศาสนา และนอกจากนี้ สีเหลืองยังเป็นสีประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
ราชพฤกษ์ จึงได้ถูกเลือกให้เป็นชื่อของงาน มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นโดยรัฐบาลไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเฉลิมฉลองในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปี 2549 และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี 2550
ตราสัญลักษณ์ ประกอบขึ้นด้วยรูปทรงของดอกราชพฤกษ์ ที่พัฒนามาจากธรรมชาติ จริงของดอกราชพฤกษ์ มีสีเหลือง 5 กลีบ
ส่วนเกษรของดอกราชพฤกษ์ในตราสัญลักษณ์ ได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปทรงของตัวเลข ๙ ไทย อันสื่อความหมายว่า งานราชพฤกษ์ 2549 เป็นงานมหกรรมที่จัดขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เนื่องในวโรกาสแห่งการเฉลิมฉลองที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษ 80 พรรษา
งานมหกรรม พืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 นี้ ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 470 ไร่ เป็นงานที่รวมสุดยอดความมหัศจรรย์แห่งพรรณไม้ในพื้นที่เขตร้อนชื้น ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ที่มีความหลากหลายมากที่สุด ของพรรณไม้กว่า 2,200 ชนิด มากกว่า 2.5 ล้านต้น ยังเป็นการประกาศศักยภาพการผลิตพืชผลทางการเกษตรของไทย ด้านพรรณไม้ดอกไม้ประดับ ไม้สมุนไพร พืชสวนครัว ไม้แปลกหายาก และ พืชผลทางการเกษตร สู่เวทีตลาดการค้าโลก
สาระของการนำเสนอในระดับสากล และความหลากหลายของพืชพรรณไม้ที่นำมาจัดแสดงภายในงานประกอบด้วยไฮไลท์หลัก 7 ส่วน
จุดเด่นๆ ของงานมหกรรม พืชสวนโลก
mascot สัญลักษณ์ตุ๊กตางานมหกรรมพืชสวนโลก
- หอคำหลวง (royal pavilion)
- สวนเฉลิมพระเกียรติ
- สวนนานาชาติ
- สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประเภทองค์กร
- นิทรรศการในอาคารและการประกวด (อาคารศูนย์การเรียนรู้ (indoor exhibition))
- นิทรรศการและประกวดกล้วยไม้ (orchid pavilion)
- สวนพรรณไม้เขตร้อนชื้น (tropical garden)
- ส่วนการแสดงพิเศษ
- การจัดประชุมวิชาการนานาชาติและสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ
1. หอคำหลวง (royal pavilion)
ภาพยามค่ำคืน หอคำหลวง
การแสดงโขน ตอน ชมราชพฤกษ์ สงบศึกโยธา
จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นที่สุดของงาน ตั้งอยู่บนเนินดิน เนื้อที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร บริเวณถนนทางเข้าตกแต่งด้วยซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ 30 ซุ้ม แต่ละซุ้มมีกรอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์สี่ด้านติดกัน นำเสนอพระราชกรณียกิจและพระบรมราโชวาท ขนาบด้วยต้นราชพฤกษ์ตลอดสองข้างทาง ส่วนตัวอาคารเป็นเรือนไม้ครึ่งตึก 2ชั้น ที่มีความสง่างามสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนา “หอคำหลวง” ใช้ในการจัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นบนของหอคำหลวง ที่ผนังทั้ง 3 ด้าน ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังภาพวาด พระราชกรณียกิจในการเยี่ยมราษฏร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อยู่ในใจของพสกนิกรตลอด 60 ปี ที่ทรงครองราชสมบัติ เป็นภาพที่สร้างสรรใหม่ลงรักปิดทองแบบไทยกำมะลอ ประกอบด้วยฉากหลังเป็นภาพป่าของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดการจัดงานราชพฤกษ์ พร้อมทั้งจัดแสดงภาพพระราชจริยวัตร ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระเยาว์ และจัดทำปฏิมากรรมพร้อมฐานที่ควรค่าแก่การเคารพบูชา เป็นสัญลักษณ์ของต้นไม้แห่งทศพิธราชธรรม ซึ่งในเบื้องต้นนี้จะใช้ชื่อว่า “ต้นบรมโพธิสมภาร” มีใบไม้ 21,915 ใบ เท่ากับจำนวนวันที่ทรงครองราชย์ตลอดระยะเวลา 60 ปี โดยจัดทำเป็นอักษรนูนต่ำ ที่มีข้อความเป็นภาษาบาลีเกี่ยวกับเรื่องทศพิธราชธรรม เพื่อใช้เป็นที่สำหรับให้ประชาชนมาสักการะ
บริเวณชั้นล่างของหอคำหลวง แสดงนิทรรศการศิลปกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย “นิทรรศการ 6 ทศวรรษ กษัตริย์นักพัฒนา” ที่ฉายภาพพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงตรัสไว้ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และภาพประกอบภาพเหตุการณ์ขณะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมตราสัญลักษณ์การฉลองสิริราชครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรและความเป็นกษัตริย์นักพัฒนาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดแบ่งพื้นที่ภายในห้องนิทรรศการหลักออกเป็น 9 โซน
2. สวนเฉลิมพระเกียรติ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
การจัดแสดงสวน ดูแปลกตาดี
2.1 สวนนานาชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดแสดงสวนของประเทศต่างๆ ในนามของประมุข รัฐบาล และประชาชนของประเทศนั้นๆ การจัดสวนของแต่ละประเทศแสดงถึงความงดงามทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ โดยขณะนี้มีประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการ 33 ประเทศจาก 5 ทวีปทั่วโลก
โดยในส่วนของนานาชาติ เข้าร่วมการจัดสวน 3 รูปแบบ ได้แก่ การจัดสวนภายนอกอาคาร (outdoor garden) มี 31 ประเทศ 25 สวน ได้แก่ประเทศเบลเยี่ยม ภูฏาน บังกาเรีย กัมพูชา จีน กาบอง อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เคนยา ลาว มาเลเซีย มอริเตเนีย โมร็อกโก เนปาล เนเธอร์แลนด์ โรมาเนีย ปากีสถาน กาตาร์ สเปญ ซูดาน ตุรกี เวียดนาม และแอฟริกาใต้ การจัดสวนภายในอาคาร (indoor garden) จัดแสดงตลอดทั้ง 92 วัน มี 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เคนยา ตุรกี บูรไน ไนจีเรีย ตูนิเซีย และเยเมน และรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียน 6 สัปดาห์ (indoor exhibition) มี 13 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย มอริเตเนีย โมร็อคโก เนปาล ซูดาน แคนาดา เกาหลีใต้ ไนจีเรีย เยเมน ตรินิแดดแอนด์โตเบโก และบุรุนดี
2.2 สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประเภทองค์กร ได้แก่ สวนเฉลิมพระเกียรติฯ จากองค์กรต่างๆในประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เป็นการนำทฤษฎีการเกษตรของในหลวง มาเป็นแนวคิดการจัดสวน อาทิ ทฤษฎีหญ้าแฝกรักษาการยึดตัวของดิน และทฤษฎีการเกษตรแบบพอเพียง เป็นต้น เพื่อให้สวนที่จัดขึ้นเป็นแหล่งความรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนชาวไทย ได้น้อมนำทฤษฎีในหลวงไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม องค์กรยืนยันตอบรับเข้าร่วมจัดสวน 22 องค์กร แบ่งเป็น 8 หน่วยงานราชการ/จังหวัด 3 รัฐวิสาหกิจ 3 ธนาคาร และ 8 บริษัทเอกชน และ 8 หน่วยงานราชการ/จังหวัด
3. นิทรรศการในอาคารและการประกวด (อาคารศูนย์การเรียนรู้ (indoor exhibition))
จัดแสดงนิทรรศการพรรณไม้ เทคโนโลยี และการประกวดพรรณไม้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ นิทรรศการถาวร (indoor garden) เป็นนิทรรศการแสดงพรรณไม้ถาวร 92 วัน ในอาคาร และนิทรรศการแสดงพรรณไม้ชั่วคราว มี 2 อาคาร เป็นส่วนการจัดแสดงนิทรรศการพรรณไม้สลับหมุนเวียนกันไม่ซ้ำกัน ตลอดทั้ง 6 สัปดาห์
กล้วยไม้ รองเท้านารี
4. นิทรรศการและประกวดกล้วยไม้ (orchid pavilion)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยและสมาคม/ชมรมกล้วยไม้ต่างๆ รวมถึงหน่ายงานราชการ สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จัดสร้าง orchid pavilion ขึ้น เพื่อจัดแสดงนิทรรศการและประกวดกล้วยไม้ บนพื้นที่ 4 ไร่ ภายใต้แนวคิด “orchids of the world” เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดแสดงนิทรรศการและการประกวดกล้วยไม้ที่ยิ่งใหญ่ และมีระยะเวลาการจัดงานที่ยาวนานที่สุดถึง 92 วัน มีกล้วยไม้จากทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ลูกผสม รวมทั้งกล้วยไม้แปลก ใหม่ และหายาก มาจัดแสดงถึง 10,000 พันธุ์ รวมกว่า 50,000 ต้น
นอกจากนี้ ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับ orchid park สวนป่ากล้วยไม้เลียบแบบธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยได้ในงานนี้ด้วย และเนื่องจากการจัดแสดงกล้วยไม้ครั้งนี้เป็นการจัดแสดงที่มีระยะเวลายาวนานที่สุดของไทย ผู้จัดจะมีกิจกรรมจัดแสดงและประกวดกล้วยไม้หมุนเวียนกันไปเพื่อให้ผู้ชมได้พบความแปลกใหม่และ มีความสวยงามทุกวันตลอดระยะเวลาจัดงาน สำหรับการประกวดกล้วยไม้ จะมีการประกวดสวนหย่อมกล้วยไม้เลียนแบบธรรมชาติและสวนแบบสร้างสรรค์ นำกล้วยไม้มาใช้ประโยชน์ ตกแต่งเป็นสวนหย่อมที่สวยงามตามจินตนาการที่แตกต่างกันออกไป และการประกวดกล้วยไม้กระถาง กล้วยไม้ตัดดอกประเภทต่างๆ โดยจะมีการประกวดและตัดสินกันทุกสัปดาห์ตลอดงาน โดย orchid pavilion นี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้กล้วยไม้เมืองร้อนที่สมบูรณ์ที่สุด
ต้นสนดึกดำบรรพ์ ยุคไดโนเสาร์ อายุประมาณ 250 ล้านปี
5. สวนพรรณไม้เขตร้อนชื้น (tropical garden)
เป็นพื้นที่จัดแสดงพันธุ์ไม้เขตร้อนชื้นที่มีความหลากหลาย และใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนพันธุ์ไม้มากกว่า 2,200 ชนิด รวมแล้วกว่า 2.5 ล้านต้น มาจัดแสดง เช่น ไม้ผล ผัก ไม้ทะเลทราย ไม้ในวรรณคดี ไม้พุทธประวัติ ไม้ในร่ม ไม้เลื้อย ไม้หอม ไม้ประจำจังหวัด ไม้สะสม (กล้วยไม้, โป๊ยเซียน, โกสน, บอนไซ เป็นต้น) และไม้ประจำจังหวัด76จังหวัด โดยจัดแสดงสวนประเทศไทยย่อสวนพร้อมนำต้นไม้ประจำจังหวัดปลูกลงไปบนแผนที่จำลอง นอกจากนี้ สวนพรรณไม้เขตร้อนยังเป็นพื้นที่จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นไทย ในการแสดงสวนพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของแต่ละภาคของประเทศ ตลอดจนไม้มงคลที่สะท้อนความเป็นชุมชนบนวิถีความเป็นไทยเพื่อสื่อถึงภูมิปัญญา และการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามภูมิภาคนั้นๆ
6. ส่วนการแสดงพิเศษ
สวนสมุนไพร จัดแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม สมุรไพรของชาวเขา โดยจัดแสดงผ่านการจัดสวนเพื่อแสดงถึงความหลากหลายของต้นสมุนไพร
การแสดงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งในและต่างประเทศ
เป็นการเปิดโอกาสให้นานาประเทศ และจังหวัดต่างๆของประเทศไทยได้แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงามเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ในช่วงระยะเวลา 92 วันของการจัดงาน ซึ่งการแสดงต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นใน 4 บริเวณ ได้แก่ เวทีใหญ่ (main amphitheatre) เวทีในสวน (mini amphitheatre) เรือนไทย 4 ภาค (thai regional houses) ถนนหน้าหอคำหลวง
เรือนไทย 4 ภาคและอาคารชานพักเรือนไทย
ลักษณะโดยรวมของอาคารเป็นเรือนหมู่เครื่องสับ (เรือนไม้) และมีเรือนเครื่องผูก (ใช้ไม้ไผ่และวัสดุในท้องถิ่น) โดยเนื้อหาของการจัดแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม การตั้งถิ่นฐาน ขนบธรรมเนียม ประเพณี งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมดนตรี นาฏศิลป์ การละเล่นและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเน้นไปที่เนื้อหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมของประชาชน ทั้ง 4 ภาคในประเทศไทย
ศูนย์การเรียนรู้โลกแมลง (bug world)
เป็นโลกแมลงเต็มรูปแบบในห้องปฏิบัติการมีชีวิตขนาดใหญ่ ด้วยแนวคิด “แมลงมีค่าล้ำ นำธรรมชาติสมดุล” ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ โซน living จะจัดแสดงแมลงมีชีวิต ในโดมขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 15 เมตรและสูง 4 เมตร โดยสร้างเป็นกรงคลุมต้นไม้ โดยจำลองสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โซน non-living เป็นส่วนแสดงสต๊าฟแมลงหายากและนิทรรศการภาพแมลงชนิดต่างๆ ภายในอาคาร มีการแสดงวิวัฒนาการ วงจรชีวิต วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศน์ของสัตว์ชนิดนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการแสดงแมลงที่หาชมได้ยากและมีความแปลก เช่น ผีเสื้อนางละเวง ที่มีความสวยงามมีขนาดใหญ่มากและมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น ในส่วนนี้ยังจัดแสดงแมลงมีพิษ ที่เป็นอันตราย เช่น ผึ้ง หรือ ต่อหัวเสือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการให้ความรู้ เช่น แผนผังวงจรชีวิตของแมลงแต่ละชนิดว่าจัดกลุ่มในจำพวกเดียวกับแมลงชนิดไหนใกล้ชิดกับพันธุ์ใด แมงกับแมลงแตกต่างกันอย่างไร
กลุ่มอาคารเรือนกระจก
เป็นอาคารเรือนกระจกควบคุมอุณหภูมิ ที่จัดแสดงด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทันสมัย และนำเสนอเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นขึ้นเอง แบ่งเป็น
-กลุ่มอาคารเรือนกระจกควบคุมอุณหภูมิปกติ (อาคารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ) จัดแสดงเทคโนโลยีการปลูกพืชไม่ใช้ดิน อาคารเรือนกระจกไม่ควบคุมอุณหภูมิ จัดแสดงพันธ์พืชเขตร้อน หรือ พืชทะเลทราย รวมถึงกลุ่มไม้ทนแล้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
-อาคารเรือนกระจกควบคุมความเย็น จัดแสดงพันธุ์ไม้เมืองหนาว เช่น ผัก ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับ อาคารเรือนกระจกทรงสูง(รูปโดม) จัดแสดงพันธ์ไม้เขตร้อนชื้น ไม้แปลกและไม้หายาก ชนิดต่างๆ รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชพรรณของประเทศไทย นำเสนอแบบ multi stories
7. การจัดประชุมวิชาการนานาชาติและสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ
นอกจากจะเป็นการจัดแสดงพันธุ์ไม้เขตร้อนที่ดีที่สุดในโลกงานหนึ่งแล้วยังได้จัดการเผยแพร่ความรู้วิชาการ ด้านพืชสวนเขตร้อน และเทคโนโลยีทางการเกษตรที่นักวิชาการของไทยมีความรู้ความสามารถในระดับนานาชาติ แบ่งเป็นการทางวิชาการออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การประชุมวิชาการนานาชาติ และการประชุมวิชาการภายในประเทศ