เที่ยวตลาดน้ำอัมพวายามเย็น ก่อนลงเรือพาย ชมหิ่งห้อย ณ คลองผีหลอก

เมื่อเอ่ยถึง "หิ่งห้อย" เราเกือบจะลืมหน้าตาของเจ้าแมลงพวกนี้ไปเสียแล้ว เพราะครั้งสุดท้ายที่เราเห็นพวกมันหากย้อนกลับไปก็เป็นเวลาเกือบสิบปี เพราะฉะนั้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้เรากับเพื่อนจึงตั้งใจกันว่าจะไปชมหิ่งห้อยให้หายคิดถึงกันเสียที

หิ่งห้อย

ทั่วโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด

ตลาดน้ำอัมพวา

ตลาดน้ำอัมพวายามเย็น

จุดมุ่งหมายในการเดินทางของพวกเราในครั้งนี้จึงอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 63 กิโลเมตร

เราออกเดินทางจากกรุงเทพในช่วงประมาณบ่าย 3 โมง ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงเศษก็ถึงอำเภออัมพวา พวกเราจึงแวะรับประทานอาหารที่ตลาดน้ำยามเย็นของอำเภออัมพวา ตลาดน้ำแห่งนี้จะจัดขึ้นในช่วงเวลาเย็นเรื่อยไปจนถึงพลบค่ำ อาจกล่าวได้ว่าเป็นตลาดน้ำแห่งแรกที่จัดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งชาวบ้านจะพายเรือทยอยนำสินค้าหลากหลายชนิดอาทิ อาหาร ผลไม้ พืชผัก ขนม ของกินของใช้ มาขายให้กับนักท่องเที่ยว หรือคนในท้องถิ่นที่สัญจรไปมาที่ตลาดอัมพวา ทำให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติของชีวิตชุมชนริมน้ำ เป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

หลังจากที่รับประทานอาหารกันจนอิ่มหนำสำราญ พวกเราก็เดินทางไปยัง "บ้านริมคลอง" บ้านพักแบบ โฮมสเตย์ ริมคลองผีหลอก (ชื่อฟังดูน่ากลัว แต่เอาเข้าจริงบรรยากาศดีมากๆ) บ้านพักมีลักษณะแบบกระท่อมหลังคามุงจาก มีลมธรรมชาติพัดเย็นสบาย หน้าบ้านติดกับคลองมีศาลาหลังคามุงจากให้นั่งเล่นสบายๆ มองเห็นทิวทัศน์สองฝั่งคลองได้อย่างชัดเจน พอทุ่มกว่าๆ ก็ถึงเวลาของกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ของการเดินทางในครั้งนี้ นั่นก็คือการนั่งเรือชมหิ่งห้อยที่เกาะอยู่ตามต้นลำพูริมสองฝั่งคลอง พวกเราเตรียมใส่เสื้อชูชีพเพื่อลงเรือชมหิ่งห้อยที่เป็นบริการของทางบ้านพัก โดยคิดค่าบริการคนละ 100 บาท เรือที่จะพาเราไปชมหิ่งห้อยในครั้งนี้เป็นเรือแจว โดยเราลงเรือไปพร้อมกับนักท่องเที่ยวคนอื่นอีกประมาณ 5-6 คน และมีลุงที่น่ารักอีก 2 คนพายเรือนำทางพวกเราไป

บ้านริมคลอง อัมพวา

บ้านริมคลอง บรรยากาศแบบธรรมชาติ

โฮมสเตย์ บ้านริมคลอง

บ้านพักโฮมสเตย์ หลังคามุงจาก

ศาลาริมคลอง บ้านริมคลอง

ศาลาพักผ่อน ชมวิว ริมคลอง

การใช้เรือแจวมีข้อดีตรงที่เราสามารถพายเรือเข้าไปชมหิ่งห้อยได้อย่างใกล้ชิด และไม่มีเสียงเครื่องยนต์คอยรบกวนความสงบอีกด้วย เมื่อพายเรือไปได้สักระยะ พวกเราเห็นหิ่งห้อยหลายร้อยตัวเกาะอยู่เต็มต้นลำพู พวกมันกะพริบแสงกันอย่างพร้อมเพรียงราวกับนัดหมาย มองไปแล้วคล้ายๆ โคมไฟที่ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ คนในเรือต่างพากันส่งเสียงอื้ออึงด้วยความตื่นเต้น เพราะนานๆ ครั้งจะได้เห็นหิ่งห้อยเป็นจำนวนมากอย่างนี้สักที

เรือแจว ชมหิ่งห้อย

พายเรือแจว ชมหิ่งห้อยอย่างใกล้ชิด

บ่อยครั้งที่เจ้าแมลงตัวน้อยบินมาเกาะอยู่ที่หลังมือของเรา เป็นเวลาเนิ่นนานแล้วมันก็บินจากไป ทำให้ความรู้สึกในวัยเด็กที่เราชอบจับหิ่งห้อยมาเล่นย้อนกลับมาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าการบันทึกภาพหิ่งห้อยจะทำได้ค่อนข้างยาก แต่พวกเราทุกคนก็บันทึกภาพแห่งความประทับใจเหล่านี้เอาไว้ในความทรงจำ ระยะเวลาในการชมหิ่งห้อยประมาณหนึ่งชั่วโมงในวันนั้นจึงถือได้ว่าคุ้มค่ามากๆ สำหรับพวกเรา

คืนนั้นหลังจากชมหิ่งห้อยแล้ว พวกเราก็กลับมานอนหลับฝันหวานอย่างมีความสุข รุ่งขึ้นพวกเราตื่นขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ในยามเช้า พร้อมกับรับประทานข้าวต้มกุ้งแสนอร่อยฝีมือแม่ครัวอัมพวา ก่อนที่จะออกเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในตอนสาย รถยนต์ค่อยๆ เคลื่อนออกจากบ้านริมคลองอันแสนสุข พวกเราเหลียวหลังกลับไปมองอีกครั้ง ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสจะต้องกลับมาที่นี่อีกครั้งอย่างแน่นอน

มาทำความรู้จักกับหิ่งห้อยตัวน้อย

ลักษณะทั่วไปของหิ่งห้อย
หิ่งห้อย (firefly , lightening bug) แมลงแสง แมลงคาเรือง หรือ แมลงทิ้งถ่วง ทั่วโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด หิ่งห้อยตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีก ส่วนเพศเมียมีทั้งปีกและไม่มีปีก บางชนิดมีปีกสั้นมาก (brachypterous) ชนิดที่ไม่มีปีก มีรูปร่างลักษณะคล้ายตัวหนอน หนอนของหิ่งห้อยเป็นตัวห้ำกินหอยฝาเดียว ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็กๆเป็นอาหาร หิ่งห้อยมีลักษณะเด่น คือสามารถทำแสงได้ทั้งระยะหนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย ส่วนระยะไข่ทำแสงได้เฉพาะบางชนิดเท่านั้น

การทำแสงของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยมีอวัยะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1 ปล้อง แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างลักษณะคล้ายหนอนมีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัวเกือบทุกปล้อง แสงของหิ่งห้อย เกิดจากปฏิกริยาของสาร leciferin เป็นตัวเร่งปฏิกริยาและมีสาร adenosine triphosphate (atp) เป็นตัวให้พลังงาน ทำให้เกิดแสง หิ่งห้อยทำแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน ความถี่การกะพริบแสงของหิ่งห้อยแตกต่างกันตามชนิดของหิ่งห้อย

แหล่งอาศัยของหิ่งห้อย

หิ่งห้อยมีแหล่งอาศัยแตกต่างกัน บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณแหล่งน้ำจืด แต่บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อย หรือป่าชายเลน และมีอีกหลายชนิดอาศัยอยู่บริเวณสวนป่าที่มีสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ซึ่งไม่เคยถูกทำลายมาก่อน

วงจรชีวิตของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยมีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) คือมีระยะไข่ , ระยะหนอน , ระยะดักแด้ , ตัวเต็มวัย โดยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืชน้ำ เช่น ใบจอกหรือวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ตามพื้นดินที่ชุ่มชื้น แล้วแต่ชนิดของหิ่งห้อย ไข่เมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนมีการลอกคราบ 4-5 ครั้ง จึ่งเข้าดักแด้ แล้วออกเป็นตัวเต็มวัย

ประโยชน์ของหิ่งห้อย
1. การกะพริบแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยจำนวนมาก ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นเกิดความสวยงามตามธรรมชาติในยามค่ำคืน สามารถจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ เช่น การลงเรือชมหิ่งห้อยที่ จังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี และ ตราด
2. หิ่งห้อยเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อม
3. ระยะหนอนของหิ่งห้อย เป็นตัวทำลายหอย ซึ่งเป็นสัตว์อาศัยตัวกลางของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และพยาธิใบไม้ในสำไส้คน
4. นักวิทยาศาสตร์ กำลังสนใจศึกษาค้นคว้า สารลูซิเฟอริน ในหิ่งห้อยซึ่งเชื่อว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์และ ด้านพันธุวิศวกรรม

ข้อแนะนำสำหรับการชมหิ่งห้อย

  • ช่วงเวลาหรือฤดูกาลที่เหมาะสม โดยปกติแล้วหิ่งห้อยจะมีตลอดทั้งปี แต่จะมากในฤดูร้อน และฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – ตุลาคม
  • เลือกช่วงเวลาที่เป็นข้างแรม เนื่องจากแสงของหิ่งห้อยมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเป็นเวลาข้างขึ้น ท้องฟ้าจะสว่าง ทำให้เห็นแสงของหิ่งห้อยไม่ชัดเจน จึงควรเลือกวันที่ท้องฟ้ามืดมิด
  • เลือกช่วงเวลาที่น้ำมาก จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเล น้ำจะขึ้น-ลง อยู่ตลอดเวลา ควรจะเลือกวันที่น้ำมาก เพราะเรือสามารถเข้าไปใกล้กับต้นลำพูซึ่งหิ่งห้อยเกาะอยู่ ทำให้สามารถเห็นแสงของหิ่งห้อยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • เลือกผู้ให้บริการ การล่องเรือชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน เรือจะวิ่งไปตามแม่น้ำและลำคลองที่มืด หิ่งห้อยจะมีอยู่เป็นจุดๆ ในบริเวณที่แตกต่างกัน ถ้าหากผู้ให้บริการไม่มีความชำนาญในเส้นทางและรู้แหล่งที่อยู่ หรือให้บริการในเส้นทางที่สั้นเกินไป ย่อมทำให้นักท่องเที่ยวเห็นหิ่งห้อยได้น้อย ซึ่งควรตรวจสอบระยะทางการล่องเรือชมหิ่งห้อยกับผู้ให้บริการเสียก่อน

ที่มาของข้อมูลอ้างอิง www.maeklongtoday.com

โดย น้องส้มซ่า